ผมแค่อยากจะคุย

“ ผมไม่ได้อยากสัมภาษณ์ ผมแค่อยากจะคุย”

เป็นประโยคเปิดฉากที่ผมใช้ในการสำรวจผู้คน เพื่อไม่ให้ใครตื่นตกใจเวลามีสื่อมวลชนเข้าหา จำได้ว่าการทำงานสารคดีชิ้นแรกของผมคือ การต้องเดินเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้าสักคน ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าจะชวนคุยเรื่องอะไร

ความจริงเราไม่ต้องเตรียมการอะไรมากมาย กับการที่จะเข้าไปคุยกับใครสักคนที่เราสนใจ ยกเว้นผมเองที่ไม่ถนัดกับการเข้าสังคม

ผมชอบคิดแทนคนอื่น ว่าถ้าเป็นเราคงหลบเลี่ยงถ้ามีใครสักคน(ที่ไม่รู้จัก)เข้ามาทักทาย แต่ที่ผมผ่านงานสารคดีมาได้ตลอดรอดฝั่ง มันเกิดจากความพยายามและฝึกฝน

เริ่มหัดคบค้าสมาคมตั้งแต่ตอนทำงานแวดวงสารคดี ผมต้องไม่กลัวในการทำความรู้จักพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ติดฝนใต้ป้ายรอรถเมล์ คนที่กำลังรอคิวในโรงพยาบาล คนที่บังเอิญนั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน ฯลฯ

ชีวิตคือการเรียนรู้

ซึ่งแน่นอนครับ ผมไม่ได้คิดว่าการกระทำอย่างนั้นเป็นเรื่องงานเลย แต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องเรียนรู้ ไอ้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าเนี่ย มันไม่ได้ยากเลยนะครับ ในขั้นต้นผมก็รู้สึกแปลกๆอยู่บ้าง (ผมมั่นใจว่าเป็นกันทั้งสองฝ่าย) เพราะคนแปลกหน้าที่ผมหมายถึงนี่ คือคนที่ปกติคุณต้องไม่เคยคิดฝันจะไปทำความสนิทสนมด้วยแน่ๆ อาทิเช่น สามล้อที่เป็นเซียนหมากฮอส คนเก็บของเก่าที่ชอบใส่นาฬิกาข้างละหลายเรือน ช่างเย็บผ้าที่แต่งตัวเหมือนอยู่ในงานฮาโลวีน ฯลฯ

การเคารพความคิดเห็นจากผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ

หัวข้อที่ใช้ในการสนทนา ควรจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งเราก็ต้องสังเกตว่าเขาน่าจะพอใจ เพราะฝันร้ายของการทำสารคดีคือการคุยกับฝ่ายตรงข้ามแล้วถามคำตอบคำ หรือประหม่านิ่งเงียบแล้วตอบว่า… ไม่รู้

ยกตัวอย่างเช่น ผมเข้าไปพุดคุยกับคนเก็บของเก่า เก็บขยะไปขาย ผมก็จะไม่คุยเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่สลับซับซ้อน แต่ผมจะถามถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน วิธีการทำงาน ความเป็นอยู่ของเขา ซึ่งคำตอบที่ได้ก็จะเป็นความจริงที่เขายินดีจะมอบ

ต้องมีศิลปะในการเจรจา

การแต่งตัวและการวางตัวในการทำสารคดีก็เป็นเรื่องสำคัญครับ ต้องไม่ทำตัวให้เป็นจุดเด่น หรือแปลกแยก คนที่เป็นนักสารคดีที่ดีต้องมีความกลมกลืน มีกาลเทศะ เวลาผมจะไปสัมภาษณ์คนเก็บขยะ ผมจะไม่แต่งตัวภูมิฐาน เพราะอาจทำให้เขาเกิดอาการเกร็งหรือประหม่า

การใช้ถ้อยคำน้ำเสียงก็สำคัญ มีผลต่อความรู้สึกโดยตรง ควรมีน้ำเสียงและท่าทางที่กระตือรือร้น ตลอดไปจนถึงการเลือกอุปกรณ์การผลิตสารคดี เช่นกล้องถ่ายรูปหรือกล้องวีดีโอ ไมโครโฟน และขาตั้งกล้อง เอาให้ถนัดแนบเนียน ไม่ควรใหญ่เทอะทะน่ากลัว คุณลองคิดดู จู่ๆมีใครไม่รู้เอากล้องวีดีโออันเบ้อเริ่มมาจ่อตรงหน้า แล้วยิงคำถามใส่เป็นชุด ฝ่ายตรงข้ามไม่ตกใจก็บ้าแล้ว

สารคดีต้องมีความเป็นธรรมชาติ ต้องมีความจริงมากกว่าข่าว

เพราะข่าวมีการนำเสนออย่างเป็นทางการ ในขณะที่สารคดีไม่เป็นทางการ เมื่อตาสีตาสารู้ว่ากำลังจะกลายเป็นบุคคลในข่าว ตาสีตาสาก็จะพยายามควบคุมตัวเอง เพราะโดยปกติผู้คนมักอยากให้ตนดูดีต่อหน้ากล้องเสมอ เนื่องจากมีการถ่ายทอดเหตุการณ์ออกไปสู่สาธารณะ

ผมชอบการถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอทำสารคดีกับชาวบ้านและคนระดับล่างทั่วไป (ระดับเดียวกับผมนั่นแหล่ะ) เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีความเป็นธรรมชาติและเป็นกันเองมากกว่าคนในเมือง คนที่มีการศึกษา หรือคนที่ประกอบอาชีพด้วยการตอบคำถาม

สารคดีต้องทำด้วยความตั้งใจและเข้าใจ

คนที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาดีพอ จะไม่สามารถจับประเด็น และควบคุมทิศทางของสารคดีได้ จึงมักทำให้สารคดีสะเปะสะปะล้มเหลวได้แต่มองตาปริบๆ

ยกตัวอย่าง เหมือนการสารภาพรักกับใครสักคน พอเจอหน้าเขาปุ๊บ คุณจะยังไม่บอกกับเขาโต้งๆใช่ไหม ว่าคุณคิดยังไง คุณก็จะชวนเขาคุยไปเรื่องอื่น ค่อยๆเผยความรู้สึกในใจ แต่มันก็ยังอยู่ในหัวข้อที่คุณกำลังจะบอกรักเขาใช่ไหม คุณต้องไม่ลืม พอเขาเริ่มจะคล้อยตาม คุณก็ถึงจะค่อยสารภาพ โป๊ะเช๊ะ! เนื้อหาสารคดีเป็นแบบนี้เลย

สารคดีมีหลากหลายประเภท

ทั้งสารคดีเชิงข่าว สารคดีชวนเชื่อ สารคดีความรู้ สารคดีบันเทิง ฯลฯ แล้วแต่ใครจะแยกย่อย สำหรับ ภาพชีวิต บอกได้เต็มปากเลยว่าเป็นสารคดีแนวบันเทิงครับ เพราะผมอยากให้ทุกคนสัมผัสสารคดีด้วยความสนุก ยืนยันว่าชีวิตเป็นเรื่องสนุก ถึงแม้จะมีความทุกข์บ้างก็ตาม เพราะความทุกข์คือสีสันอย่างหนึ่งของชีวิต ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องราวทุกอย่างเป็นความสุขสนุกสนานได้ แม้โดยเนื้อแท้มันจะเศร้าเหลือเกิน

การกำกับงานสารคดี

อย่างที่ผมเคยบอกแล้วว่า งานสารคดีต้องมีการควบคุมและกำหนดทิศทาง ผู้กำกับงานสารคดีที่ดีจะไม่ปล่อยให้ผลงานออกมาตามยถากรรม เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องคำนึงในการนำเสนอ เช่น งบประมาณ ระยะเวลา การผลิต การเผยแพร่ ฯลฯ ผู้กำกับใช้การถ่ายทำและการตัดต่อในการเปลี่ยนอารมณ์ สรรหาดนตรีประกอบ มันคือศิลปะในการนำเสนออย่างหนึ่ง ใครที่บอกว่างานสารคดีไม่มีการกำกับนั้นผิดถนัด ซึ่งการกำกับจะเป็นการบ่งชี้ว่าสารคดีนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

สารคดีบางเรื่องสนุกสุดเหวี่ยง แต่บางเรื่องดูแล้วอยากบรรทม ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้กำกับ ต่อให้เป็นสารคดีเนื้อหาเดียวกัน แต่ถ้าผู้กำกับเลือกถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนกัน มันก็จะแตกต่าง และชี้เป็นชี้ตายสารคดีเรื่องนั้นได้เลย.

One Man So

การทำสารคดีสักเรื่อง ก็ไม่ต่างจากการจับเสี้ยวชีวิตของใครสักคนมานำเสนอ

ผมเป็นนักสารคดีประเภท วันแมนโซ (คือหิวโซ ลำบากอยู่คนเดียว) คิดเองเออเอง ควบคุมและออกแบบงานสารคดีทั้งหมดด้วยตนเอง

ใช่ว่าเก่งกาจ แต่เป็นเพราะสารคดีที่ผมทำมันทุนต่ำ หาคนมาช่วยไม่ได้ อย่างสารคดีบางเรื่องต้องถ่ายทำในที่ไม่โสภา ในแหล่งเสื่อมโทรม ค่ำมืดดึกดื่น ตี๒ ตี๓ มันลำบาก และมันลำบากจริงๆที่จะหาใครมายอมลำบากด้วย

ถ้ามีทีมงานทำสารคดี มันก็ย่อมดีกว่าทำงานคนเดียว เพราะว่าคุณจะเหนื่อยน้อยกว่า และจะได้งานที่มีคุณภาพมากกว่า

แต่จากประสบการณ์การทำสารคดีคนเดียวมาตลอดหลายปี ผมค้นพบว่ายังมีข้อดีมากมาย เช่น ผลงานที่ได้มาจากแก่นแท้ของคุณคนเดียว ถ่ายทอดรูปแบบของคุณคนเดียว มีความคล่องตัวสูงเพราะทำงานคนเดียว และสุดท้ายคุณอาจได้ชื่นชมกับสารคดี…. คนเดียว (ฮา)

เพราะว่าสารคดีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถึงแม้ผมจะทำงานสารคดีคนเดียวตามเรื่องตามราวที่บ้านเกิด(โคราช) ทำอย่างอัตคัดขัดสนอย่างไรก็ตาม แต่ผมก็พยายามทำมันออกมาให้เป็น สารคดีที่ดี

นิยามของสารคดีนั้น แม้สารคดีไม่จำเป็นต้องมีสาระ ปรุงแต่งได้ แต่แก่นแท้ของสารคดีต้องมี ความจริง เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ดี

สารคดีที่ดีจึงต้องสะท้อนภาพความจริง

การจะทำสารคดีให้ออกมาดีนั้น ขึ้นอยู่กับบุคลิกของคนทำว่าเป็นคนช่างสังเกต ช่างค้นหาคำตอบด้วยตนเองหรือเปล่า

แล้วผมกำลังค้นหาอะไร?
ผมกำลังค้นหาคำตอบของชีวิตครับ

ตัวผมเองสงสัยอยู่เสมอว่า “ คนเราเกิดมาทำไม?”
ผมจึงออกเดินทางค้นหาคำตอบเหล่านั้น ไม่ได้ไกลโพ้นซับซ้อน แต่สำรวจผ่านบุคคลทั่วไปและตนเอง โดยอาศัยงานสารคดีบังหน้า

แค่นี้ก็เป็นสารคดีแล้วครับ!!

ส่วนเรื่องของวิธีการผลิต อุปกรณ์ เทคนิคต่างๆ เป็นแค่ปัจจัยภายนอก เรียนรู้เอาตามประสบการณ์และฐานะ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้

คุณอาจจะมีคำถาม?
สารคดีสำคัญที่คำถาม เพราะโลกนี้มีคำถาม จึงมีคำตอบให้ค้นหา และคำตอบที่ได้จากแต่ละบุคคลแต่ละสถานที่ก็ไม่เหมือนกัน เป็นคำตอบที่ไม่มีผิดหรือถูก คำตอบในสารคดีจึงมักเป็นคำตอบปลายเปิด

ผมถนัดกับการตั้งคำถามผู้อื่น แต่ตัวผมเองก็เคยได้รับคำถามเช่นกัน

ในการทำงานสารคดี มักมีคำถามกลับมายังผู้สร้างในลักษณะที่ว่า ได้ให้เงินเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ถูกถ่ายทอดหรือไม่ หรือได้รับเงินจากผู้ถ่ายทอดบ้างไหม

เพราะบางท่านมีความคิดว่าการจะทำสารคดีได้นั้น ต้องมีการใช้สิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยน
ขอตอบว่า ผมให้สิ่งตอบแทนในการทำงานสารคดีเพียงอย่างเดียวคือ น้ำใจ

น้ำใจของผมคือ การขอบคุณ ให้เกียรติทุกคนทั้งที่ช่วยเหลือ และไม่ช่วยเหลือผม

เอ็มสปอร์ต ๒ ขวด บุหรี่ ๑ ซอง ค่ารถค่ารา เลี้ยงข้าวเที่ยง,ข้าวเย็น ให้คำแนะนำถามไถ่ ฯลฯ นั่นคือ

น้ำใจ

น้ำใจ แม้ไม่มากนักแต่ก็ดับกระหายได้

ทว่า น้ำใจในการทำสารคดีด้วยการรับฟังผู้อื่นด้วยความตั้งใจและสนใจ คือน้ำใจที่ดีที่สุด

ผมขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า โดยปกติผมไม่ใช่คนที่มีมนุษยสัมพันธ์สูง อัธยาศัยดี รักและพร้อมจะเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับทุกคนในโลกใบนี้

แต่สันดานเดิมผมเป็นคนค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ชอบอยู่เงียบๆ ไม่เตร็ดเตร่ไปไหน ถ้ามีเวลาว่างชอบอยู่บ้านนอนอ่านหนังสือคนเดียว

ผมเป็นแค่คนธรรมดา ที่มีความขี้เกียจ หวาดระแวง เก็บความสงสัยในใจเสมอ

ณ ขณะนี้ผมเองยังสงสัย ทำไมสารคดีถึงทำให้ผมเปลี่ยนไป.

งานประกวดสารคดี

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตผมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2007

พ.ศ.2550 หลังจากที่ผมลาออกจาก บ.โคราชเคเบิล KCTV ไปทำงานเป็นพนักงานตัดต่อรายการ คนค้นคน บ.ทีวีบูรพา ได้สามเดือนแล้วหนีออกมา (ไม่ผ่านโปร)

ท่ามกลางความเคว้งคว้าง สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตก็คือ สารคดี ผมเขียนบทความสารคดีให้เพื่อนที่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโคราช

ขณะเขียนคอลัมน์ ค้นโคราช เกี่ยวกับเรื่องราวของสามล้อผู้เชื่อว่าตัวเองรักษาเอดส์ได้ ลงใน หนังสือพิมพ์โฟกัส โคราช นึกแปลกใจเรื่องราวเกี่ยวกับเซียนหมากฮอสไหงไปจบลงด้วยโรคร้าย เมื่อไม่เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อในระยะประชิดมาก่อน ความจริงจากปากไสวผมเชื่อครึ่งเดียว เขามาบอกว่าแฮบปี้กับชีวิตนี่ยังไงผมก็ว่าตอแหล

เหมือนมีอะไรมาดลใจ บังเอิญได้รับรู้ข่าวการประกวดฯ (โครงการประกวดสารคดีของ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ aids access ชื่อโครงการ หนังม่านรูด 3 ) ตรงความสนใจของผมพอดี จากที่ไม่อยากจะแข่งขันกับใคร ก็เอาวะ ลองดูหน่อยไม่เสียหาย (ถ้าได้รับเลือกมีทุนให้ไปทำ)

ลงชื่อสมัครทางเนตเพื่อเข้าร่วม หลังจากนั้นทีมงานนัดหมายไปยังจุดหมาย (โรงแรม ปรินส์ตันปาร์ค แถวศูนย์ไทยญี่ปุ่น ดินแดง) การอบรมสองวันจากพี่ๆวิทยากรน่าประทับใจเกินคาด ทัศนคติเกี่ยวกับเอดส์ของผมเรียกว่าพลิกจากหลังตีนเป็นหน้ามือทีเดียว

ได้หยิบ ค้นโคราช มาเขียนเป็นโครงเรื่องสารคดีส่งประกวดนับว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง

ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 9 ผู้รับทุนทำสารคดีนับว่าเป็นโอกาสอย่างสอง

ทุน 23000 บาท จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ฯ ผมใช้ไปกับการผ่อนกล้องวีดีโอ MiniDV และเป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำสารคดี ความยาวไม่เกิน 20 นาที

ระยะเวลา 3 เดือนที่ถ่ายทำจนแล้วเสร็จ และได้ฉายเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ (ปลายเดือน ต.. 2550) เป็นช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจยึดอาชีพ เป็นคนทำงานสารคดี

aids access

1.โครงการประกวดหนังม่านรูด 3 Staying Positive (หัวข้อที่กำหนดในปีนั้นคือ สารคดี)

2. วันที่ 26-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 work shop เติมความรู้แก่ผู้แข่งขันโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ โรงแรม ปรินส์ตันปาร์ค

3. วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550 work shop การถ่ายทำสารคดี ณ สมาคมนักเรียนคริสเตียน

4. ดีใจหลังจากได้รับเลือกให้ทุนในการทำสารคดีเรื่อง ไสวยังไหว