เหตุการณ์สำคัญในชีวิตผมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2007
พ.ศ.2550 หลังจากที่ผมลาออกจาก บ.โคราชเคเบิล KCTV ไปทำงานเป็นพนักงานตัดต่อรายการ คนค้นคน บ.ทีวีบูรพา ได้สามเดือนแล้วหนีออกมา (ไม่ผ่านโปร)
ท่ามกลางความเคว้งคว้าง สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตก็คือ สารคดี ผมเขียนบทความสารคดีให้เพื่อนที่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโคราช
ขณะเขียนคอลัมน์ ค้นโคราช เกี่ยวกับเรื่องราวของสามล้อผู้เชื่อว่าตัวเองรักษาเอดส์ได้ ลงใน หนังสือพิมพ์โฟกัส โคราช นึกแปลกใจเรื่องราวเกี่ยวกับเซียนหมากฮอสไหงไปจบลงด้วยโรคร้าย เมื่อไม่เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อในระยะประชิดมาก่อน ความจริงจากปากไสวผมเชื่อครึ่งเดียว เขามาบอกว่าแฮบปี้กับชีวิตนี่ยังไงผมก็ว่าตอแหล
เหมือนมีอะไรมาดลใจ บังเอิญได้รับรู้ข่าวการประกวดฯ (โครงการประกวดสารคดีของ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ aids access ชื่อโครงการ หนังม่านรูด 3 ) ตรงความสนใจของผมพอดี จากที่ไม่อยากจะแข่งขันกับใคร ก็เอาวะ ลองดูหน่อยไม่เสียหาย (ถ้าได้รับเลือกมีทุนให้ไปทำ)
ลงชื่อสมัครทางเนตเพื่อเข้าร่วม หลังจากนั้นทีมงานนัดหมายไปยังจุดหมาย (โรงแรม ปรินส์ตันปาร์ค แถวศูนย์ไทย–ญี่ปุ่น ดินแดง) การอบรมสองวันจากพี่ๆวิทยากรน่าประทับใจเกินคาด ทัศนคติเกี่ยวกับเอดส์ของผมเรียกว่าพลิกจากหลังตีนเป็นหน้ามือทีเดียว
ได้หยิบ ค้นโคราช มาเขียนเป็นโครงเรื่องสารคดีส่งประกวดนับว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง
ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 9 ผู้รับทุนทำสารคดีนับว่าเป็นโอกาสอย่างสอง
ทุน 23000 บาท จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ฯ ผมใช้ไปกับการผ่อนกล้องวีดีโอ MiniDV และเป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำสารคดี ความยาวไม่เกิน 20 นาที
ระยะเวลา 3 เดือนที่ถ่ายทำจนแล้วเสร็จ และได้ฉายเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ (ปลายเดือน ต.ค. 2550) เป็นช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจยึดอาชีพ เป็นคนทำงานสารคดี
1.โครงการประกวดหนังม่านรูด 3 Staying Positive (หัวข้อที่กำหนดในปีนั้นคือ สารคดี)
2. วันที่ 26-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 work shop เติมความรู้แก่ผู้แข่งขันโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ โรงแรม ปรินส์ตันปาร์ค
3. วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550 work shop การถ่ายทำสารคดี ณ สมาคมนักเรียนคริสเตียน
4. ดีใจหลังจากได้รับเลือกให้ทุนในการทำสารคดีเรื่อง ไสวยังไหว